วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

“มาร์ค” หวั่นร่างงบปี 53 สะดุด คาดหนี้สาธารณะพุ่ง 60% ของจีดีพี

จัดทำโดย : นางสาววธุกา ถิตย์บุญครอง 5001203040

“มาร์ค” ยอมรับสภาพ พิษเศรษฐกิจทำงบปี 53 ส่อเค้าร่อแร่ พร้อมคาด “หนี้สาธารณะ” อาจพุ่งถึง 60% ของจีดีพี รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินนอกโป๊ะ แม้แหล่งเงินกู้ในประเทศจะมีสูงถึง 8 แสนล้าน

ที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาคารพญาไท พลาซ่า เมื่อเวลา 09.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการบรรยายเรื่อง “แนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม” โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะวางหลักใหญ่ๆ สำคัญ คือ จุดแข็งของประเทศอยู่ที่การวางแผนด้านการเกษตร การผลิตอาหาร และพลังงานทดแทนเป็นทิศทางสำคัญ อีกทั้งเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพทางการเกษตร รวมไปถึงการกระจายแหล่งน้ำ

อันดับสองคือ ภาคอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ให้สนับสนุนพลังงานทดแทน และอิเล็กทรอนิคในบางส่วน สิ่งสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจอิงความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นอีกทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มผสานต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า โดยสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและมีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในด้านการภาคบริการมีศักยภาพเติบโตมากรวมไปถึงการท่องเที่ยวอีกด้วย จะต้องมีการปรับโครงสร้างการลงทุน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลได้รวบรวมแผนการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ในปลายปีข้างหน้าซึ่งเริ่มต้นได้ในปีนี้ทั้งแหล่งน้ำ ระบบโลจิสติก ระบบรถไฟรางคู่ สาธารณูปโภคพื้นฐาน ในด้านการศึกษารัฐบาลต้องปรับปรุงคุณภาพ ในด้านสาธารณสุขจะยกระดับคุณภาพของสถานีอนามัยตำบลให้เป็นโรงพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล

ขณะเดียวกัน โรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เป็นเหตุสำคัญที่คนไทยเสียชีวิต เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต และเบาหวาน เป็นเรื่องที่จะต้องมีการลงทุน รวมไปถึงการทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศกำลังรณรงค์อยู่ในการกระตุ้นและปรับโครงสร้างพร้อมๆกัน ในด้านการพัฒนา 3 และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีการยกระดับรายได้ขึ้นมาอย่างชัดเจนเพื่อช่วยเหลือเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นปัญหาคือ เรื่องตัวเลขในการจัดเก็บภาษีปีงบประมาณปัจจุบันจัดเก็บต่ำกว่าเป้าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านแน่นอน สำหรับงบประมาณปี 53 ต้องมีงบน้อยกว่าปี 52 งบประมาณต้องลดลง ถ้าเราจะต้องขาดดุลอยู่ในระดับที่กำหนดในกฎหมาย งบต้องลดลง อย่าว่างบประมาณที่ใครหวังว่าจะได้งบประมาณมากกว่าเดิม จะมากกว่าปีที่แล้วก็ไม่ได้ หรือได้เท่าปีปัจจุบันก็ไม่ได้ หมายความว่า ถ้าหักงบประจำหรืองบผูกผัน ก็แทบจะไม่มีโครงการใหม่เลยในงบปี 53 นี่คือข้อจำกัด ในแง่ของการบริหารงบ 1.5 ล้านล้าน ต้องแบ่งเบาโดยให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ โดย พีพีพี ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และการกู้เงิน

ในต่างประเทศขณะนี้ต้องยอมรับว่าจำเป็นต้องกู้เงิน ทั้งไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์ในขณะนี้เปิดรูปแบบเงินกู้ใหม่ทั้งสิ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหากระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกประเทศเห็นพ้องต้องกันมากว่าต้องกู้เงิน เพื่อลงทุนและรักษาฐานทางเศรษฐกิจของตัวเอง ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 40 ของจีดีพี และเชื่อว่า จะพุ่งสูงถึงร้อยละ 60 กว่าๆ ของจีดีพี ใกล้เคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้วที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 65 เป็นตัวเลขที่ทั่วโลกยอมรับได้ ไม่น่าตกใจว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพ

ส่วนการกู้เงินตนเชื่อว่า จะสามารถกู้เงินภายในประเทศได้โดยไม่กระทบ เพราะในระบบสถาบันการเงินมีเงินเยอะ แต่ไม่ปล่อยกู้ ซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างมากทั้งนโยบายดอกเบี้ยชัดเจน ตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันสถาบันทางการเงินไม่ปล่อย เพราะไม่มั่นใจกลัวความเสี่ยง ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นมีการประเมินว่ามีถึง 8 แสนล้าน ฉะนั้นกาที่รัฐบาลจะกู้เงินในประเทศดึงสภาพคล่องออกมาถือว่าทำได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ด้านสังคมปัญหาต่างๆ พัวพันกับเศรษฐกิจและค่านิยม เช่น ปัญหายาเสพติด มาจากความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอย่างแน่นอน อีกทั้งปัญหาเรื่องเอดส์ ทั้งหมดนี้จะต้องปรับเรื่องทัศนคติ ค่านิยมโดยหัวใจสำคัญอยู่ที่สื่อสารมวลชน เพราะมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่มากที่สุด ขณะเดียวกันโลกของสื่อก็เปลี่ยนไป อย่างปัญหาการเมืองที่แก้ปัญหายากขึ้น เพราะคนในประเทศรับข้อมูลคนละชุด สามารถเลือกรับข้อมูลในสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่อ ถือเป็นเรื่องยาก เรื่องเดียวกันข้อมูลคนละชุด เป็นเรื่องยากมาก รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและมองว่าจะทำอย่างไรให้มีจุดร่วมมากกว่าขยายจุดต่าง และนโยบายสำคัญ คือ การรุกสร้างพื้นที่ดีไล่พื้นที่ไม่ดี ทางกายภาพคือ มีพื้นที่ให้เยาวชนสร้างสรรค์มากขึ้น ในด้านสื่อหมายความว่า โลกไซเบอร์ทำอย่างไรให้มีสิ่งดีมากขึ้นเพื่อเบียดของเสียให้น้อยลง เพื่อแก้ปัญหาสังคม
ที่มา :ASTVผู้จัดการออนไลน์ 30 เมษายน 2552 14:36 น.
คำถาม:
1. การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะวางหลักใหญ่ๆ สำคัญ คือ จุดแข็งของประเทศอยู่ที่การวางแผนด้านใดบ้าง?
2. ขณะนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละเท่าไหร่?
3. นโยบายสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาด้านสังคมที่พัวพันกับเศรษฐกิจและค่านิยมคือทำอย่างไร?

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552

ทางเลือกในการบริหารพอร์ตในช่วงตลาดผันผวน

จัดทำโดย : นางสาวปิยะนุช เพียแก่น 5001203036

รู้วัตถุประสงค์ของตนเองก่อนการบริหารพอร์ต
แต่ก่อนที่เราจะเริ่มทำการบริหารพอร์ตการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนควรเข้าใจก่อนว่าเราต้องการบริหารพอร์ตเนื่องจากวัตถุประสงค์ใด ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่รูปแบบที่จะใช้ในการปรับพอร์ตการลงทุน โดยอาจทำการแบ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ในการบริหารพอร์ตได้เป็น 3 ส่วนดังนี้
1. เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ลงทุนมีสถานะการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป หรือผู้ลงทุนบางท่านอาจต้องการพอร์ตการลงทุนที่มีสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
2. เพื่อให้พอร์ตที่ผู้ลงทุนมีอยู่ในปัจจุบัน (current port) ตรงกับพอร์ตเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากในบางครั้งสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตอาจเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้น เราจึงควรทำการบริหารพอร์ตให้เป็นไปตามพอร์ตที่เรากำหนดจากความทนทานต่อความเสี่ยง (risk tolerance) ของผู้ลงทุนแต่ละรายที่ได้ตั้งเอาไว้
3. เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการคาดการณ์ของตลาดที่มีการปลี่ยนแปลง ข้อนี้คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ลงทุนแต่ละท่านในการตัดสินใจในการปรับพอร์ตการลงทุนรวมถึงความสามารถในการติดตามข้อมูลข่าวสารว่าจะสามารถบริหารพอร์ตให้ทันต่อสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่กล่าวถึงจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบในการบริหารพอร์ตของผู้ลงทุน ซึ่งในปัจจุบันทางเลือกในการบริหารพอร์ตสามารถทำได้อย่างหลากหลายมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในตลาดการเงินของประเทศไทย ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุนแต่ละรายและในแต่ละสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้นยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซา (bear market) ผู้ลงทุนอาจพิจารณาปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงโดยการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds) ที่มีสภาพคล่องสูงและสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการนำเงินไปฝากไว้ในธนาคาร หรืออาจใช้กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ซึ่งสามารถเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย (country risk) หรือแม้กระทั่งกระจายความเสี่ยงไปสู่การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

Image Hosted by CompGamer Image Host


อีกรูปแบบในการบริหารพอร์ตที่อยากกล่าวถึงก็คือ ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นแต่ไม่สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ว่าควรจะคัดเลือกหุ้นตัวใดออกไป ก็อาจเลือกใช้ตราสารอนุพันธ์อย่างสัญญาฟิวเจอร์ (Futures) หรือสัญญาออปชั่น (Options) เข้ามาช่วยในการบริหารพอร์ตได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
สมมติให้ผู้ลงทุนมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นโดยกำหนดให้มีมูลค่าทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีค่าเบต้า (β) ของพอร์ตเท่ากับ 1.5 (หมายความว่าหากตลาดมีการเปลี่ยนแปลง 1 % มูลค่าพอร์ตของผู้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไป 1.5%) หากภาวะตลาดในขณะนั้นมีความเสี่ยงสูงและเราต้องการปรับค่าเบต้าของพอร์ตให้ลดลงเหลือ 0.6 เราสามารถใช้สัญญา SET50 Index Futures1 ในการบริหารพอร์ต ซึ่งสามารถคำนวณสัญญาฟิวเจอร์ที่ต้องทำการซื้อหรือขายได้โดยใช้สูตรง่ายๆ ดังนี้
จำนวนสัญญาที่ต้องทำการซื้อขาย = [(βใหม่ - βปัจจุบัน) x มูลค่าพอร์ต]
มูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์หนึ่งฉบับ
= [(0.6 – 1.5) x 5,000,000]
450,000
= - 10
หาก SET50 Index Futures มีราคาซื้อขายที่ 450 บาท และมีตัวทวี (Multiplier) 1,000 บาท ต่อสัญญา เพราะฉะนั้นมูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์หนึ่งฉบับจะเท่ากับ 450,000 บาท เราจะคำนวณได้ว่าเราต้องทำการขาย (short) ฟิวเจอร์ 10 สัญญา จึงจะทำให้ค่าเบต้าของพอร์ตเปลี่ยนจาก 1.5 เป็น 0.6

ที่มา : ธเนศ ฟังมงคล สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

http://edu.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=873&Itemid=302&limit=1&limitstart=0

คำถาม

1.รูปแบบที่จะใช้ในการปรับพอร์ตการลงทุน อาจทำการแบ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ในการบริหารพอร์ตได้เป็นกี่วัตถุประสงค์ อะไรบ้าง

2.ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซา (bear market) ผู้ลงทุนควรพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร

3.ตราสารชนิดใดที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

ภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อ
วันเสาร์ที่ 17 เมษายน 2552 จัดทำโดยนางสาวอุดมลักษณ์ หล้ามุงคุณ คณะบัญชี 48210060
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาวะเงินเฟ้อ หรือ เงินเฟ้อ (Inflation) หมายถึง การที่ระดับราคาราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหน่วยวัดในรูปแบบของอัตราร้อยละ จากดรรชนีราคา. เงินเฟ้อ เป็นภาวะตรงข้ามกับ ภาวะเงินฝืด อัตราเงินเฟ้ออาจมีได้หลายอัตรา เนื่องจากเราสามารถคำนวณหาอัตราเงินเฟ้อได้จากสินค้าแต่ล่ะชนิด หรือ อัตราเงินเฟ้อที่มีอิทธิพลและผลกระทบเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น ดัชนีเงินเฟ้อที่สำคัญมี 2 ดัชนี ได้แก่ ดรรชนีราคาผู้บริโภค (CPI) , เกิดจากการสุ่มสินค้าบางตัวมาคำนวณ, ตัวหักลด GDP (GDP deflator) , ค่าที่แสดงระดับราคาของ GDP ในช่วงระยะเวลานั้นเปรียบเทียบกับระดับราคาของผลิตภัณฑ์ในปีฐานหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่เพียงเล็กน้อยเป็นปกติก็จะสร้างสิ่งจูงใจแก่ผู้ประกอบการ แต่หากเพิ่มขึ้นมากและผันผวนก็จะสร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชน และการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ [1]
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่ [2], [1]
ต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงขึ้น (Cost-push inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะ ตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน
ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้นๆจึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น (Demand-pull inflation) หรือ มีแรงดึงทางด้านอุปสงค์ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน
ที่มา
1. ^ 1.0 1.1 เงินเฟ้อเงินฝืด เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
^ http://www.vcharkarn.com/varticle/34764
คำถาม
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็นกี่สาเหตุ ได้แก่อะไรบ้าง
ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง
ดัชนีเงินเฟ้อที่สำคัญมี 2 ดัชนีได้แก่
เขียนโดย 351utccbx007g3

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

"สถาบันการเงินแย่เศรษฐกิจก็แย่"

จัดทำโดย : นางสาววธุกา ถิตย์บุญครอง 5001203040
ในฐานะเจ้าของหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 172.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในสถาบันการเงิน 208 แห่ง กระทรวงการคลังสหรัฐ ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขภาวะสินเชื่อตึงตัว ทั้งที่เงินที่นำไปช่วยเหลือสถาบันการเงินสหรัฐมาจากผู้เสียภาษีอากรทั่วไป แต่สถาบันการเงินกลับไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนคนทั่วไป ถึงแม้ว่าภาวการณ์กู้ยืมระหว่างธนาคารดีขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงิน (Inter-bank) ลดลงแล้ว แต่ภาวะ การให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชนทั่วไปยังไม่ดีขึ้น เงินตึงตัว การให้สินเชื่อยากมากและอัตราดอกเบี้ยก็สูงมากด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 14.33% เกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงจาก 14.41% เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังใช้ความพยายามที่จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างพันธบัตรสหรัฐ และสินเชื่อผู้บริโภคตลอดจนบริษัททั่วไปลดลง หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งจนเกือบจะเป็นศูนย์ (0%) แต่ก็ยังล้มเหลวที่จะฟื้นตลาดสินเชื่อ ต้นทุนการกู้ยืมเงินของครัวเรือนและธุรกิจยังไม่ปรับลดตามการกู้ยืมเงินของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยการกู้สินเชื่อเคหะระยะเวลา 15 ปี อยู่ที่ 5.06% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะเวลา 10 ปี ถึง 2.59% ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2003 ครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ส่วนต่างตรงนี้อยู่ที่ 0.88% เท่านั้น ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาวะสินเชื่อตึงตัวมาก เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเกรงว่าจะเกิดวิกฤติด้านสินเชื่อรอบสอง เพราะเศรษฐกิจในสองไตรมาสข้างหน้า คงถดถอยค่อนข้างมาก เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐกำลังซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ และหนี้เป็นจำนวนมากที่นักลงทุนทั่วไปไม่กล้าซื้อ นักลงทุนในขณะนี้กลัวความเสี่ยงมาก ไม่กล้า Take Risk ธนาคารกลางคงต้องเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง และทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้เงินซื้อทรัพย์สิน (บางส่วนเป็นทรัพย์สินด้อยค่า) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สินเชื่อระหว่างเอกชนก็ยังอยู่ในภาวะตึงตัว โดยต้นทุนการกู้เงินของภาคธุรกิจอยู่ที่ระดับ 3-5 เท่า ของค่าเฉลี่ยในอดีต การกู้เงินของภาคเอกชนโดยการออกหุ้นกู้ก็มีต้นทุนสูงมากเช่นกัน โดยปัจจุบันต้นทุนของภาคเอกชนจะสูงกว่าต้นทุนของรัฐบาลถึง 6.03% ทั้งทั้งที่ในอดีตตัวเลขนี้อยู่ที่ 1.23% เท่านั้น อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าเรายังไม่ถึง (ผ่าน) ที่สุดของความเลวร้าย ซึ่งต่อไปจะมีข่าวร้ายออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทและการล้มละลายของบริษัท จนถึงบัดนี้ ที่เราทราบเป็นตัวเลขแน่ชัดแล้วก็คือสถาบันการเงินทั่วโลกขาดทุนไปแล้วถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงจะทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีขนาดระหว่าง 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะใช้นโยบายการเงินทำงานให้เต็มที่ โดยรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำเข้าไว้ นอกจากนั้น ยังจะซื้อหนี้สินประเภทเครดิตการ์ด รถยนต์ และหนี้ของนักเรียน นอกจากนั้นยังจะใช้เงินซื้อหนี้เน่าที่อยู่ในงบดุลของสถาบันการเงินและจัดตั้งสถาบันการเงินซื้อหนี้เสีย Bad Bank อย่างที่ประเทศไทยเคยทำ ที่จัดตั้ง AMC และ TAMC มาแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยได้บ้างในการฟื้นสุขภาพของสถาบันการเงินให้กลับมาเป็นปกติ
ที่มา : ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ วันพฤหัสบดีที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2552
คำถาม:
1. ดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตในการให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชนทั่วไปปัจจุบันอยู่ทีเท่าไหร่?
2. ดอกเบี้ยการกู้สินเชื่อเคหะระยะเวลา 15 ปี อยู่ที่ 5.06% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะเวลา 10 ปีอยู่ถึงเท่าไหร่?
3. ทำไมธนาคารกลางคงต้องเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง และทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้เงินซื้อทรัพย์สิน ไปแล้วเป็นจำนวนมาก?