วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552

ทางเลือกในการบริหารพอร์ตในช่วงตลาดผันผวน

จัดทำโดย : นางสาวปิยะนุช เพียแก่น 5001203036

รู้วัตถุประสงค์ของตนเองก่อนการบริหารพอร์ต
แต่ก่อนที่เราจะเริ่มทำการบริหารพอร์ตการลงทุนนั้น ผู้ลงทุนควรเข้าใจก่อนว่าเราต้องการบริหารพอร์ตเนื่องจากวัตถุประสงค์ใด ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่รูปแบบที่จะใช้ในการปรับพอร์ตการลงทุน โดยอาจทำการแบ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ในการบริหารพอร์ตได้เป็น 3 ส่วนดังนี้
1. เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ลงทุนมีสถานะการยอมรับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป หรือผู้ลงทุนบางท่านอาจต้องการพอร์ตการลงทุนที่มีสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
2. เพื่อให้พอร์ตที่ผู้ลงทุนมีอยู่ในปัจจุบัน (current port) ตรงกับพอร์ตเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากในบางครั้งสัดส่วนการลงทุนของพอร์ตอาจเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้น เราจึงควรทำการบริหารพอร์ตให้เป็นไปตามพอร์ตที่เรากำหนดจากความทนทานต่อความเสี่ยง (risk tolerance) ของผู้ลงทุนแต่ละรายที่ได้ตั้งเอาไว้
3. เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการคาดการณ์ของตลาดที่มีการปลี่ยนแปลง ข้อนี้คงต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ลงทุนแต่ละท่านในการตัดสินใจในการปรับพอร์ตการลงทุนรวมถึงความสามารถในการติดตามข้อมูลข่าวสารว่าจะสามารถบริหารพอร์ตให้ทันต่อสถานการณ์ได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ที่กล่าวถึงจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบในการบริหารพอร์ตของผู้ลงทุน ซึ่งในปัจจุบันทางเลือกในการบริหารพอร์ตสามารถทำได้อย่างหลากหลายมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในตลาดการเงินของประเทศไทย ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ผู้ลงทุนแต่ละรายและในแต่ละสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้นยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซา (bear market) ผู้ลงทุนอาจพิจารณาปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตลงโดยการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ซึ่งอาจนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Funds) ที่มีสภาพคล่องสูงและสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการนำเงินไปฝากไว้ในธนาคาร หรืออาจใช้กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ซึ่งสามารถเลือกลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย (country risk) หรือแม้กระทั่งกระจายความเสี่ยงไปสู่การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

Image Hosted by CompGamer Image Host


อีกรูปแบบในการบริหารพอร์ตที่อยากกล่าวถึงก็คือ ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นแต่ไม่สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ว่าควรจะคัดเลือกหุ้นตัวใดออกไป ก็อาจเลือกใช้ตราสารอนุพันธ์อย่างสัญญาฟิวเจอร์ (Futures) หรือสัญญาออปชั่น (Options) เข้ามาช่วยในการบริหารพอร์ตได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น
สมมติให้ผู้ลงทุนมีพอร์ตการลงทุนในหุ้นโดยกำหนดให้มีมูลค่าทั้งสิ้น 5 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีค่าเบต้า (β) ของพอร์ตเท่ากับ 1.5 (หมายความว่าหากตลาดมีการเปลี่ยนแปลง 1 % มูลค่าพอร์ตของผู้ลงทุนจะเปลี่ยนแปลงไป 1.5%) หากภาวะตลาดในขณะนั้นมีความเสี่ยงสูงและเราต้องการปรับค่าเบต้าของพอร์ตให้ลดลงเหลือ 0.6 เราสามารถใช้สัญญา SET50 Index Futures1 ในการบริหารพอร์ต ซึ่งสามารถคำนวณสัญญาฟิวเจอร์ที่ต้องทำการซื้อหรือขายได้โดยใช้สูตรง่ายๆ ดังนี้
จำนวนสัญญาที่ต้องทำการซื้อขาย = [(βใหม่ - βปัจจุบัน) x มูลค่าพอร์ต]
มูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์หนึ่งฉบับ
= [(0.6 – 1.5) x 5,000,000]
450,000
= - 10
หาก SET50 Index Futures มีราคาซื้อขายที่ 450 บาท และมีตัวทวี (Multiplier) 1,000 บาท ต่อสัญญา เพราะฉะนั้นมูลค่าของสัญญาฟิวเจอร์หนึ่งฉบับจะเท่ากับ 450,000 บาท เราจะคำนวณได้ว่าเราต้องทำการขาย (short) ฟิวเจอร์ 10 สัญญา จึงจะทำให้ค่าเบต้าของพอร์ตเปลี่ยนจาก 1.5 เป็น 0.6

ที่มา : ธเนศ ฟังมงคล สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

http://edu.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=873&Itemid=302&limit=1&limitstart=0

คำถาม

1.รูปแบบที่จะใช้ในการปรับพอร์ตการลงทุน อาจทำการแบ่งวัตถุประสงค์หลักๆ ในการบริหารพอร์ตได้เป็นกี่วัตถุประสงค์ อะไรบ้าง

2.ในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซบเซา (bear market) ผู้ลงทุนควรพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไร

3.ตราสารชนิดใดที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น