วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

การลงทุนในสินค้าทองคำ

จัดทำโดย : นางสาวปิยะนุช เพียแก่น 5001203036

นอกเหนือไปจากข่าวร้ายๆ ทางเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขการส่งออกที่ลดลง การหดตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 หรือ ข่าวการเลิกจ้าง หรือ Lay-Off พนักงานของบริษัทต่างๆ ที่มีการรายงานไม่เว้นแต่ละวัน โดยนักข่าวสำนักต่างๆ ข่าวของการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำที่พุ่งขึ้นไปแตะระดับ US$1,000 ต่อออนซ์ เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ (หรือ ราคาทองแท่งในบ้านเราที่เยาวราชพุ่งไปถึงกว่าบาทละ 16,400 บาท) ก็เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และ/หรือ ประชาชน ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
โดยในช่วงนี้ ผู้คนในวงการค้าทองคำ ไม่ว่าจะเป็นนายกสมาคมค้าทองคำ หรือ รองเลขาธิการสมาคม ต่างถูกจองคิวสัมภาษณ์ถึงแนวโน้มของราคาทองคำไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมฯ ที่หมู่นี้ให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์บ่อยครั้งสูสีกับท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลยทีเดียว
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองแตะระดับ US$1,000 ต่อออนซ์ ในครั้งนี้ ทำให้ราคาทองแท่งในประเทศของบ้านเราที่เยาวราชปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ราคาสูงสุดที่ราคาบาทละ 16,400 บาท
นับว่าเป็นราคาที่สูงสุดประวัติการ ซึ่งสาเหตุของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองคำนี้ที่ผมได้ยินมาจากบทวิเคราะห์ต่างๆ เช่น ความไม่เชื่อมั่นในระบบการเงินโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบธนาคารในยุโรปตะวันออก) นโยบายการอัดฉีดเงินเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกตามทฤษฎี Keynesian และ/หรือ ภาวะการดิ่งลงในตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทองคำทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมาก
โดยในปัจจุบัน การลงทุนในทองคำนั้น ถ้าเป็นนักลงทุนในสหรัฐนั้น นักลงทุนสามารถเลือกทั้งทางตรงและทางอ้อมได้หลายทางเลือก เช่น 1) ซื้อทองแท่ง หรือ เหรียญทองคำที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เช่น South African Krugerrand Canadian Maple Leaf หรือ U.S. Eagles 2) ลงทุนใน Exchange Traded Fund (ETF) ทองคำ เช่น GLD หรือ SPDR Gold Shares หรือ ETF ของ London Gold Bullion Securities 3) การลงทุนในบริษัทเหมืองแร่ทองคำ เช่น Barrick Gold Anglogold หรือ IAMGOLD เป็นต้น 4) ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในรูปแบบของ Gold Futures Contract (รวมถึง OPTIONS ด้วย) ในตลาดล่วงหน้า เช่น New York MErcantile Exchange (NYMEX)
แต่สำหรับนักลงทุนชาวไทย ดูเหมือนว่าทางเลือกในการลงทุนเกี่ยวกับทองคำจะมีน้อยกว่า กล่าวคือ ณ ปัจจุบันหากนักลงทุนต้องการลงทุนในทองคำก็จะมีทางเลือกคือ 1) ซื้อทองคำที่ร้านค้าทอง เช่น ที่เยาวราช แล้วนำมาเก็บไว้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรม และความเสี่ยงที่จะได้รับทองคำไม่บริสุทธิ์
2) กองทุนรวมทองคำ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มี ETF ทองคำ มีเพียงแต่ ETF สำหรับ SET50 (ซึ่งก็คือ TDEX) และ ETF สำหรับหุ้นพลังงาน (ซึ่งก็คือ ENGY หรือ Mtrack Energy ETF) ซึ่งหากพูดถึงกองทุนทองคำแล้ว นักลงทุนในประเทศทำได้แต่เพียงซื้อกองทุนทองคำ (GOLD FUND) ของบริษัทจัดการกองทุนรวม เช่น ของ บลจ.ทหารไทย กสิกรไทย และล่าสุดก็กองทุนทองของ MFC หรือ AYF ซึ่งจะนำเงินจากนักลงทุนในประเทศไปซื้อ GLD หรือ SPDR Gold Shares อีกทอดหนึ่ง ซึ่งนักลงทุนจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการให้กับ บลจ. ในประเทศตามอัตราที่แต่ละ บลจ.กำหนด และเสียค่าธรรมเนียมให้ GLD ด้วย (ปัจจุบัน GLD เรียกเก็บที่ 0.4% ของมูลค่าเงินลงทุน)
ทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนในทองคำของนักลงทุนก็คือ การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภท Gold Futures ของตลาดอนุพันธ์ หรือ TFEX ซึ่งเปิดให้ซื้อขายกันตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งรูปแบบการลงทุนเป็นรูปแบบเดียวกันกับ การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า SET50 Index (SET50 Index Futures) ใน TFEX และ การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ที่มีการซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (Rubber Futures) ข้าวล่วงหน้า (Rice Futures) และ มันสำปะหลังล่วงหน้า (Tapioca Futures)
โดยสัญญา Gold Futures สำหรับเดือนส่งมอบกุมภาพันธ์ (GFG09) จะมีการซื้อขายกันจนถึงวันพฤหัสที่ 26 กุมภาพันธ์ 52 หลังจากนั้นหากใครยังถือครอง Position Gold Futures อยู่ GFG09 TFEX จะทำการชำระส่วนต่างด้วยเงิน หรือ ทำการ Cash Settlement ให้ โดยไม่เข้ากระบวนการส่งมอบ-รับมอบให้ยุ่งยาก ไม่เหมือนกับ Gold Futures ที่ซื้อขายกันใน NYMEX ที่สหรัฐอเมริกา หรือ Rubber Futures ใน AFET ที่เมื่อถึงวันซื้อขายสุดท้ายแล้วผู้ซื้อ-ผู้ขายที่ยังถือสัญญาอยู่จะต้องทำการส่งมอบ-รับมอบ สินค้ากันจริงตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน Contract Specification หรือ ที่เรียกกันว่า สัญญาแบบ Physical Delivery
การจะกำหนดให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นแบบ Physical Delivery หรือแบบ Cash Settlement นั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของการซื้อขาย อีกทั้งความต้องการของผู้นักลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนักลงทุนในแต่ละตลาด ซึ่งว่ากันไปแล้วการกำหนดให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นรูปแบบที่ไม่ต้องส่งมอบกันจริง หรือ มีลักษณะเป็นรูปแบบของ Cash Settlement
หากราคาที่ใช้ในการทำ Cash Settlement เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว Contract ในรูปแบบCash Settlement นั้นจะมีข้อดีหลายประการ เช่น ช่วยให้นักลงทุน (ผู้ที่ไม่มีสินค้าอยู่จริง) สามารถถือสัญญาไปจนถึงวันซื้อขายสุดท้ายได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการ Squeeze จากผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงเป็นการรับประกันว่าราคาของสัญญา Futures และ ราคาสินค้าจริง จะเป็นราคาเดียวกัน ณ วันที่มีการชำระราคาด้วยเงิน ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่ามูลค่าของ Futures ของตนจะเป็นราคาเดียวกันกับสินค้าที่ตนให้ความสนใจอยู่
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Futures นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้า Gold Futures เป็นการลงทุนในลักษณะ High Leverage นั้นคือสามารถใช้เงินจำนวนน้อยๆ มาลงทุนในสินค้าที่มูลค่าเป็นจำนวนมาก ๆ ได้ เช่น เงินเพียง 100 บาท สามารถลงทุนในสินค้ามูลค่า 1,000 บาทได้ ทำให้เมื่อมีกำไร ก็จะมีอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับเงินต้นในอัตราที่สูงมาก ในทำนองเดียวกันหากเข้าซื้อขายผิดทาง ผลการขาดทุนก็จะเป็นอัตราการขาดทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเงินต้น ฉะนั้นก่อนเข้าซื้อขายหรือลงทุนในรูปแบบของ Futures นี้ นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับกลไกการซื้อขาย Futures ให้ถ่องแท้เสียก่อนนะครับ

ที่มา : ดร.พีรพล กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำถาม

1.ในปัจจุบัน การลงทุนในทองคำนั้น ถ้าเป็นนักลงทุนในสหรัฐสามารถเลือกลงทุนได้ในรูปแบบใดบ้าง

2.การลงทุนในทองคำของนักลงทุนไทยและนักลงทุนในสหรัฐแตกต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างพร้อมอธิบายสั้นๆ

3.การจะกำหนดให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นแบบ Physical Delivery หรือแบบ Cash Settlement ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง