วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

"สถาบันการเงินแย่เศรษฐกิจก็แย่"

จัดทำโดย : นางสาววธุกา ถิตย์บุญครอง 5001203040
ในฐานะเจ้าของหุ้นบุริมสิทธิมูลค่า 172.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในสถาบันการเงิน 208 แห่ง กระทรวงการคลังสหรัฐ ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขภาวะสินเชื่อตึงตัว ทั้งที่เงินที่นำไปช่วยเหลือสถาบันการเงินสหรัฐมาจากผู้เสียภาษีอากรทั่วไป แต่สถาบันการเงินกลับไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนคนทั่วไป ถึงแม้ว่าภาวการณ์กู้ยืมระหว่างธนาคารดีขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงิน (Inter-bank) ลดลงแล้ว แต่ภาวะ การให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชนทั่วไปยังไม่ดีขึ้น เงินตึงตัว การให้สินเชื่อยากมากและอัตราดอกเบี้ยก็สูงมากด้วย โดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 14.33% เกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงจาก 14.41% เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐกำลังใช้ความพยายามที่จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างพันธบัตรสหรัฐ และสินเชื่อผู้บริโภคตลอดจนบริษัททั่วไปลดลง หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งจนเกือบจะเป็นศูนย์ (0%) แต่ก็ยังล้มเหลวที่จะฟื้นตลาดสินเชื่อ ต้นทุนการกู้ยืมเงินของครัวเรือนและธุรกิจยังไม่ปรับลดตามการกู้ยืมเงินของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยการกู้สินเชื่อเคหะระยะเวลา 15 ปี อยู่ที่ 5.06% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะเวลา 10 ปี ถึง 2.59% ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2003 ครั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ส่วนต่างตรงนี้อยู่ที่ 0.88% เท่านั้น ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาวะสินเชื่อตึงตัวมาก เนื่องจากเห็นว่าจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเกรงว่าจะเกิดวิกฤติด้านสินเชื่อรอบสอง เพราะเศรษฐกิจในสองไตรมาสข้างหน้า คงถดถอยค่อนข้างมาก เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาดังกล่าว ธนาคารกลางสหรัฐกำลังซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ และหนี้เป็นจำนวนมากที่นักลงทุนทั่วไปไม่กล้าซื้อ นักลงทุนในขณะนี้กลัวความเสี่ยงมาก ไม่กล้า Take Risk ธนาคารกลางคงต้องเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง และทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้เงินซื้อทรัพย์สิน (บางส่วนเป็นทรัพย์สินด้อยค่า) ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1.34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สินเชื่อระหว่างเอกชนก็ยังอยู่ในภาวะตึงตัว โดยต้นทุนการกู้เงินของภาคธุรกิจอยู่ที่ระดับ 3-5 เท่า ของค่าเฉลี่ยในอดีต การกู้เงินของภาคเอกชนโดยการออกหุ้นกู้ก็มีต้นทุนสูงมากเช่นกัน โดยปัจจุบันต้นทุนของภาคเอกชนจะสูงกว่าต้นทุนของรัฐบาลถึง 6.03% ทั้งทั้งที่ในอดีตตัวเลขนี้อยู่ที่ 1.23% เท่านั้น อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าเรายังไม่ถึง (ผ่าน) ที่สุดของความเลวร้าย ซึ่งต่อไปจะมีข่าวร้ายออกมาเรื่อยๆ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทและการล้มละลายของบริษัท จนถึงบัดนี้ ที่เราทราบเป็นตัวเลขแน่ชัดแล้วก็คือสถาบันการเงินทั่วโลกขาดทุนไปแล้วถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลงจะทำให้ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ในขณะนี้รัฐบาลสหรัฐกำลังเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีขนาดระหว่าง 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ ก็จะใช้นโยบายการเงินทำงานให้เต็มที่ โดยรักษาอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำเข้าไว้ นอกจากนั้น ยังจะซื้อหนี้สินประเภทเครดิตการ์ด รถยนต์ และหนี้ของนักเรียน นอกจากนั้นยังจะใช้เงินซื้อหนี้เน่าที่อยู่ในงบดุลของสถาบันการเงินและจัดตั้งสถาบันการเงินซื้อหนี้เสีย Bad Bank อย่างที่ประเทศไทยเคยทำ ที่จัดตั้ง AMC และ TAMC มาแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยได้บ้างในการฟื้นสุขภาพของสถาบันการเงินให้กลับมาเป็นปกติ
ที่มา : ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ วันพฤหัสบดีที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2552
คำถาม:
1. ดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตในการให้กู้ยืมระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชนทั่วไปปัจจุบันอยู่ทีเท่าไหร่?
2. ดอกเบี้ยการกู้สินเชื่อเคหะระยะเวลา 15 ปี อยู่ที่ 5.06% ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะเวลา 10 ปีอยู่ถึงเท่าไหร่?
3. ทำไมธนาคารกลางคงต้องเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง และทั้งๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้เงินซื้อทรัพย์สิน ไปแล้วเป็นจำนวนมาก?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น